โนโมโฟเบีย (Nomophobia) โรคสุดฮิตของคนใช้สมาร์ทโฟน

 

โนโมโฟเบีย (Nomophobia) มาจากคำว่า no mobile phone phobia” เป็นศัพท์ที่หน่วยงายวิจัยทางการตลาดขนาดใหญ่ (YouGov) บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2010 เพื่อใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัว วิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสื่อสาร และอาการนี้กำลังถูกเสนอจัดเป็นโรคจิตเวชประเภทหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มวิตกกังวล

งานวิจัยที่เป็นที่มาของโรคนี้ได้ทำการศึกษาผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2,163 คนในสหราชอาณาจักรและพบว่า 53% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในสหราชอาณาจักรจะเกิดอาการวิตกกังวลเมื่อพบว่าโทรศัพท์หาย แบตเตอรี่หมด หรืออยู่ในสถานที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ อีกทั้งยังพบว่า 58% ของผู้ชาย และ 47% ของผู้หญิงที่ใช้โทรศัพท์มือถือมีอาการของ Nomophobia และในจำนวนนี้มีถึง 9% ของกลุ่มที่ศึกษา ระบุว่ารู้สึกเครียดมากถ้าโทรศัพท์ของตนเองใช้การไม่ได้ และเมื่อให้ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ระบุถึงระดับของความเครียดจากการขาดโทรศัพท์มือถือนั้น ความเครียดที่เกิดขึ้นเทียบเท่ากับความเครียดที่เกิดขึ้นก่อนวันแต่งงานหรือความเครียดระดับเดียวกับการไปพบทันตแพทย์เลยทีเดียว

อีกการศึกษาหนึ่งที่ทำในนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพเพศชาย 547 คน พบว่า 23% มีพฤติกรรมอยู่ในเกณฑ์ที่จะถูกวินิจฉัยได้ว่าเป็น Nomophobia และมีอีก 64% ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการนี้  และที่น่าสนใจก็คือ 77% ของเด็กในกลุ่มที่ถูกทำการวิจัยเช็กโทรศัพท์มือถือของตนเองบ่อยมากโดยเฉลี่ย 35 ครั้งต่อวันเลยทีเดียว

จากงานวิจัยที่ทำพบว่า โนโมโฟเบียพบ มากที่สุดในกลุ่มคนในช่วงอายุ 18-24 ปี โดยคิดเป็นร้อยละ 77 รองลงมา คือ กลุ่มคนในช่วงอายุ 25-34 ปี และกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 55 ปีตามลำดับ

 

โนโมโฟเบีย จุดเริ่มต้นปัญหาสุขภาพแบบบุฟเฟ่ต์

โรคติดมือถือเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของเราเอง ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต ความเครียด ความกังวลต่างๆ แต่นอกจากปัญหาส่วนนี้แล้ว โรคติดมือถือยังเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพทางร่างกายอีกหลากหลายปัญหา เรียกได้ว่าเรียงหน้ากันมาแบบบุฟเฟ่ต์กันเลยทีเดียว

  • นิ้วล็อกเกิดจากการใช้นิ้วมือกด จิ้ม เขย่า สไลด์ หน้าจอติดต่อกันนานเกินไป ทำให้มีอาการปวดข้อมือ ข้อมืออักเสบ เส้นเอ็นยึด เกิดพังพืด ถ้ารู้สึกว่ากำนิ้วมือแล้วเหยียดนิ้วไม่ได้นั่นคือสัญญาณเตือนว่าควรรีบไปพบแพทย์
  • อาการทางสายตาเกิดอาการสายตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง จากการเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็กๆ ที่มีแสงจ้านานเกินไป หรือเกิดอันตรายจากแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์ (Blue Light) ที่ถ้าหากสัมผัสแสงนี้ไปนานๆ อาจส่งผลให้วุ้นในตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม หรือตาบอดจาก Age macular degeneration (AMD) ได้
  • ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่เพราะในการใช้งานโทรศัพท์ คนส่วนใหญ่จะก้มหน้า ค้อมตัวลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่หดตัวผิดปกติ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนานๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา
  • หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควรท่าทางการใช้โทรศัพท์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะการก้มหน้า อาจทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถพยุงกระดูกได้ดี  อีกทั้งการไม่ออกกำลังกายก็เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้กระดูกบางหรือทรุด สองสาเหตุนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสริมสำคัญที่ทำให้เกิดอาการโรคกระดูกต้นคอเสื่อม (C-Spine spondylosis)
  • โรคอ้วนแม้การใช้โทรศัพท์จะไม่ได้ทำให้เกิดโรคอ้วนโดยตรง แต่การนั่งเล่นโทรศัพท์ทั้งวันโดยแทบไม่ลุกเดินไปไหน ก็จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื่อรังอื่นๆได้

 

โนโมโฟเบีย กระทบต่อการทำงานและปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

นอกจากปัญหาด้านสุขภาพแล้ว โรคติดมือถือยังสามารถสร้างปัญหาและส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน การเรียน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เนื่องจากปัญหาเรื่องการแบ่งเวลานั่นเอง จากพฤติกรรมส่วนใหญ่ของผู้ที่เป็นโรคติดมือถือ คือ จะต้องหยิบมือถือขึ้นมาเช็กบ่อยๆ แม้ไม่มีเรื่องด่วนและไม่จำเป็นต้องใช้ รวมถึงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาใช้ในขณะทำกิจกรรมสำคัญอื่นๆ อย่างตอนทำงาน ตอนประชุม ทำให้เสียสมาธิ และไม่จดจ่ออยู่กับเนื้อหางานตรงหน้าเท่าที่ควร รวมถึงส่งผลเสียเรื่องของบุคลิกภาพ ส่วนแรกเนื่องจากก้มหน้ามองจอโทรศัพท์นานๆ ทำให้กระดูกสันหลังและต้นคอเปลี่ยนรูปจนโค้งงอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการใช้โทรศัพท์อยู่ตลอดเวลาทำให้ลดทอนภาพลักษณ์ภายนอกลง โรคติดมือถือยังทำให้ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง เพราะมัวแต่ใช้งานโทรศัพท์ ระบายความรู้สึกต่างๆ ลงโซเชียลแทนการพูดคุยกัน สนทนาและสนใจคนรอบข้างน้อยลง ซึ่งจากการศึกษา พบว่า การเป็นโรคติดมือถือนั้นยังทำให้ระยะเวลาสบตากันขณะสนทนาสั้นลง แทนที่จะพูดคุยและสบตาไปพร้อมกัน เพราะการสบตาเป็นอีกช่องทางในการสื่อความหมายของสิ่งที่พูดได้ดีขึ้น

หากใครรู้สึกว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้ หรือมีเพื่อน มีญาติที่มีอาการเหล่านี้ แล้วมันรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเราอย่างมาก เกิดความกระวนกระวาย เสียการเสียงาน ไม่สามารถทำอะไรต่างๆ ได้อย่างปกติ Dr.MDX ขอแนะนำให้มาพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษา พูดคุยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งทางการแพทย์อาจจะใช้วิธีการรักษาแบบ Cognitive Behavior Therapy (CBT) ที่นิยมใช้รักษาคนมีอาการวิตกกังวล และอาการกลัวในระดับต่างๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนแปลงความเชื่อเฉพาะตัว ทำให้เรารู้สึกเป็นอิสระมากขึ้นเมื่อไม่มีโทรศัพท์มือถือ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลุกลามจนถึงขั้นเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้าได้ครับ

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. บทความเรื่อง “โรคติดมือถือ กับประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงและส่งผลต่อสุขภาพ”
  2. บทความเรื่อง “เช็คดู! คุณมีอาการเข้าข่าย “กลัวการขาดมือถืออย่างมาก” หรือไม่?”
  3. บทความเรื่อง “รู้จักโรค “โนโมโฟเบีย (nomophobia)” โรคสุดฮิตของคนใช้สมาร์ทโฟน”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.