“แปะก๊วย” กินก็ดี…ความหมายก็เยี่ยม

เมื่อคืนก่อน Dr.MDX ได้ไปแวะหาของกินอร่อยๆ ย่านเยาวราช แหล่งรวบรวมของกินเด็ดๆ ยามค่ำคืนของคนกรุงเทพฯ ถนนที่มีชื่อเสียงด้านการค้าขายทองคำในตอนกลางวัน และจะเปลี่ยนเป็นแหล่งรวบรวมร้านอาหารข้างทางอร่อยๆ ในตอนกลางคืน ซึ่งผู้ที่ชอบตระเวนหาของกินอร่อยทั้งหลายต้องเคยไปอย่างแน่นนอน มีทั้งอาหารซีฟู้ด ก๋วยจั๊บ ขนมปังปิ้ง หูฉลาม และรังนก ฯลฯ แต่เมนูที่ Dr.MDX ชื่นชอบมากเป็นพิเศษนั่นก็คือ “แปะก๊วยนมสด” เมนูของหวานที่ช่วยดับร้อนแก้กระหายได้เป็นอย่างดี เหมาะกับสภาพอากาศในช่วงหน้าร้อนนี้เป็นอย่างมาก แถมยังมีคุณค่าทางอาหารอีกด้วย วันนี้เรามาลองทำความรู้จักเจ้า “แปะก๊วย” พืชสมุนไพรจีนที่ดีต่อสุขภาพกันดีกว่าครับ

แปะก๊วย (จีน: 银杏;จีน: 白果, ญี่ปุ่น: イチョウ) เป็นพืชสมุนไพรที่มีต้นกำเนิดจากทางตะวันออกของประเทศจีน (แถบภูเขาด้านตะวันตกของนครเซี่ยงไฮ้) ที่มีการแยกต้นเป็นเพศผู้ และเพศเมีย ใบมีลักษณะคล้ายใบพัด แยกออกเป็น 2 กลีบพบว่ามีการนำเข้าไปปลูกในประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับการเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายเซน เมื่อประมาณ ช่วงราว ค.ศ. 1300 หรือสมัยคามากุระมีลักษณะพิเศษคือจะผลัดใบไม่พร้อมกันทุกต้น แต่เมื่อผลัดใบ ใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้วร่วงหล่นทั้งต้นภายในไม่กี่วัน

สำหรับชื่อตามความหมายแปลว่า “ลูกไม้สีเงิน” ซึ่งดั้งเดิม ในภาษาจีนเรียกว่าต้น “หยาเจียว” ซึ่งแปลว่าตีนเป็ดจากลักษณะใบ (นกเป็ดน้ำเป็นสัญลักษณ์ที่ดี หมายถึง ความรัก ในความเชื่อคนจีนและญี่ปุ่น) หรือ “ไป๋กั่ว” ในสำเนียงจีนกลาง (จีน: 白果) ซึ่งแปลว่า “ลูกขาว” ต่อมามีการเรียกชื่อผลของมันว่าลูกไม้สีเงิน หรือ ลูกไม้สีขาว เนื่องจากผลจะมีสีเงินและสีขาว ส่วนภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า อิโจว มีรากมาจากคำว่า ตีนเป็ด หรือ คินนัน ซึ่งมีรากความหมายคล้ายกับในภาษาจีน คือ ลูกไม้สีเงิน สำหรับในภาษาอังกฤษก็นิยมเรียกว่า กิงโกะ หรือต้นเมเดนแฮร์ หรือต้นขนนิ่ม (Maidenhair Tree) ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากรูปทรงของใบที่เหมือนกันใบของเฟิร์นที่มีขนนิ่มชื่อเดียวกัน หรือ เรียกว่า ต้นสี่สิบมงกุฎทอง (หมายถึงมีราคาแพง) ของชาวฝรั่งเศส ส่วนชื่ออื่น ๆ ที่มีผู้เรียกได้แก่ ต้นไม้แห่งความหวัง แพนด้าแห่งอาณาจักรพืช ต้นไม้แห่งอิสรภาพ

สำหรับสารที่สกัดได้จากใบแปะก๊วยมีหลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Free Radical) ในบริเวณตา ป้องกันการเกิดโรคเบาหวานขึ้นตาได้ เพิ่มการไหลเวียนของโลหิตไปสู่สมอง ปลายมือปลายเท้า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เพราะเมื่อสมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ย่อมเสื่อมสมรรถภาพและฝ่อไปในที่สุด ส่งผลต่อการทำงานและประสิทธิภาพของสมอง ทำให้เกิดการหลงลืมในผู้สูงอายุ หรือโรคความจำเสื่อม ที่เรียกว่า อัลไซเมอร์ (Alzheimer Disease)

ในปัจจุบันหลายๆ ประเทศได้ให้การยอมรับถึงสรรพคุณของใบแปะก๊วยในการรักษาโรคสมองเสื่อม โดยการนำสารสกัดจากใบแปะก๊วยมารวมกับสารอื่นๆ ช่วยให้การดูดซับที่ผนังลำไส้เล็กดีขึ้น ทำให้ร่างกายสามารถนำเอาสารสกัดจากใบแปะก๊วยนี้มาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนำสารสกัดดังกล่าวมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อบำรุงสมอง และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ใช้รักษาโรคความจำเสื่อม โรคซึมเศร้า อาการหลงๆ ลืมๆ อันเนื่องมาจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอในผู้ป่วยสูงอายุ ผลแปะก๊วยที่ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารจีนหลากหลายชนิด มีสรรพคุณช่วยบำรุงสมอง ช่วยให้เลือดลมหมุนเวียนได้สะดวก แต่ทราบหรือไม่ว่าแหล่งใหญ่ของสารที่ทำหน้าที่ช่วยเสริมสุขภาพดังกล่าวกลับพบมากในส่วนของใบมากกว่าผลเสียอีก

ใบแปะก๊วยยังเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยโตเกียวประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวแทนของความคงทน ไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนต้นแปะก๊วยที่คงทนต่อสภาพแวดล้อม คงความเป็นต้นแปะก๊วยมาแต่ยุคโบราณกาลจนปัจจุบัน และมีความหมายในการปกป้องคุ้มครองภัย จากการที่วัดอันศักด์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวญี่ปุ่น มักจะถูกปกป้องจากอัคคีภัยหรือแผ่นดินไหวโดยต้นแปะก๊วย ส่วนในประเทศจีนแปะก๊วยยังใช้แทนตัวขงจื๊อ ผู้เป็นปราชญ์ใต้ต้นแปะก๊วย

ซึ่งนอกจากแปะก๊วยจะเป็นพืชสมุนไพรจีนที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้ง 2 ส่วน คือ ส่วนผลและส่วนใบ เพราะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยให้สมองทำงานได้อย่างปลอดโปรงแล้ว แปะก๊วย ยังถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ในเชิงบวก ซึ่งมีความหมายที่ดีและเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตอย่างการมีอายุยืนยาวอีกด้วย  แล้วแบบนี้จะไม่ให้ Dr.MDX ชอบกิน “แปะก๊วย” ได้อย่างไรกันครับ

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. บทความเรื่อง “แปะก๊วย”  
  2. บทความเรื่อง “แปะก๊วย สมุนไพรสรรพคุณทรงคุณค่า บำรุงร่างกายได้ยอดเยี่ยม”
  3. บทความเรื่อง “ประโยชน์ของแปะก๊วย ไอเดียการกินการใช้แปะก๊วยเพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง”
  4. บทความเรื่อง “15 สรรพคุณ..ประโยชน์ของแปะก๊วย “สมุนไพรเพิ่มความจำ””

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.