เมื่อเกิดอาการรู้สึกหงุดหงิดง่าย นอนไม่ค่อยหลับ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกผิดปกติ ทั้งๆ ที่อากาศก็ไม่ได้ร้อนอะไรมากมาย หรืออาการหลงๆ ลืมๆ เช่น ลืมตำแหน่งที่วางสิ่งของไว้ หรือจำชื่อคนไม่ได้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นอาการเริ่มต้นของคน “วัยทอง” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของคนในวัยสูงอายุ หรือช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ดังนั้น เรามาลองหาวิธีสังเกตอาการวัยทองของผู้ชายเบื้องต้นด้วยตัวเองกันสักนิด เผื่อว่าใครเข้าข่ายข้อไหนบ้าง…จะได้รีบไปรักษากันได้ทันท่วงที!!! ตาม Dr.MDX มาเลยครับ
วิธีสังเกตอาการวัยทองของผู้ชาย
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจนทำให้ผู้ชายเข้าสู่วัยทอง ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้หลายอย่าง ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ รวมถึงเรื่องทางเพศ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มักแย่ลงเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถสังเกตอาการของตนเอง หรือคนใกล้ตัวที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยทองผู้ชายได้ เพื่อเตรียมการรับมือและดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมต่อไป ดังนี้
- อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศนกเขาไม่ขัน มีลูกยาก อัณฑะมีขนาดเล็กลง
- การเผาผลาญไขมันลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุงหรือมีไขมันส่วนเกินสะสมที่หน้าอก
- ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
- ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง ส่งผลให้ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง
- มีอาการร้อนวูบวาบ
- หัวล้าน ผมบาง ผมร่วง รวมถึงขนตามร่างกายก็อาจร่วงได้ด้วยเช่นกัน
- นอนไม่ค่อยหลับ
- เครียดอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย หรือมีอาการซึมเศร้า
- ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่มีแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่างๆ
- มีสมาธิลดลงและหลงลืมง่าย มีปัญหาเกี่ยวกับการจดจำสิ่งต่าง ๆ
วิธีรักษาและรับมือกับผู้ชายวัยทอง
ส่วนใหญ่ผู้ที่มีปัญหาวัยทองผู้ชายมักไม่กล้าหรืออายที่จะไปปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปัญหาทางเพศที่เกิดขึ้น หากอาการต่างๆ ไม่สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก แพทย์มักให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและไม่หักโหมมากจนเกินไป หาเวลาทำงานอดิเรกเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด หรือนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น ซึ่งแนวทางการปฏิบัติดังกล่าวนี้ ไม่เพียงส่งผลดีต่อชายที่มีปัญหาวัยทองเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไปทุกเพศทุกวัยได้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือผลวินิจฉัยพบว่ามีภาวะบกพร่องฮอร์โมนเพศชาย ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการรักษาโดยการให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) ที่มีทั้งรูปแบบยาเม็ด เจล แผ่นแปะผิวหนัง ตลอดจนการฝังหรือฉีด แต่การรักษานี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงการแพทย์ เนื่องจากการให้ฮอร์โมนทดแทนจากเทสโทสเตอโรนสังเคราะห์นั้น อาจไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ประสบปัญหาวัยทองผู้ชายได้ ดังนั้น หากต้องรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียและข้อควรระวังก่อนเสมอ ซึ่งหากสงสัยเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นทั้งกับตนเองหรือคนใกล้ตัว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะอาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้เช่นกันครับ
ข้อมูลอ้างอิง