9 โรคยอดฮิต… ในชายผู้สูงอายุ

เราทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น การมีโรคภัยไข้เจ็บดูจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ การเจ็บป่วยจากโรคที่ถาโถมเข้ามาอาจจะส่งผลร้ายแรงกับระบบต่างๆ ในร่างกาย ซึ่ง Dr.MDX เชื่อว่า หากเรารู้ทันโรค รู้สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคร้ายเหล่านั้น เราอาจจะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือหาวิธีป้องกันรักษาได้ทันท่วงที

Dr.MDX ฉบับนี้ ขอ In-trend กับเดือนแห่งวันผู้สูงอายุที่จะถึงในเร็วนี้ โดยขอนำเสนอ 9 โรคยอดฮิตในชายผู้สูงอายุ เพื่อให้ทุกท่านรู้เท่าทันโรค เตรียมความพร้อมหาแนวทางป้องกันโรคร้ายเหล่านี้ให้ห่างไกลจากตนเองและคนใกล้ชิด มาดูว่ามีโรคอะไรกันบ้างตาม Dr.MDX มากันเลยนะครับ

โรคความดันโลหิต

โรคยอดฮิตอันดับต้นๆ ของผู้สูงอายุเลยครับ โดบปกติแล้วคนทั่วไปจะมีความดันโลหิต 120/80 – 139/89 มิลลิเมตรปรอท หากมีค่าความดันมากกว่านี้จัดว่าเป็นผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือหากน้อยกว่านี้ก็จัดว่าเป็นผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ ซึ่งโรคนี้ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่อาจจะมีอาการใจสั่น ปวดศีรษะ หน้ามืด ตาพร่า ถ้าไม่รักษาตั้งแต่เบื้องต้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น อัมพฤกษ์ ตาบอด ไตวาย หัวใจวาย เป็นต้น

โรคความดันโลหิตป้องกันได้โดย การควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เลือกทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ (พวกเกลือและอาหารที่มีรสเค็ม) และไม่เครียด ควรทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ นอกจากนี้ควรไปตรวจสุขภาพเพื่อวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ

 

โรคเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคที่พบมากในผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป เกิดจากความผิดปกติของการผลิตอินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ตามปกติ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะมีอาการ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ ดื่มน้ำเก่ง หิวบ่อย ซึ่งอันตรายจากโรคเบาหวานนั้นมักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนกับระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบการมองเห็น อาการไตวาย ฯลฯ นอกจากนี้ โรคเบาหวานคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศด้วยการเลือกทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ ถือเป็นแนวทางการป้องกันโรคเบาหวานที่ดี แต่หากเป็นโรคเบาหวานแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมีวินัยในการรับประทานอาหาร และออกกำลังกายเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพราะหากอาการรุนแรงขึ้นจะหาทางรักษาได้ยากมาก

 

โรคหัวใจขาดเลือด

เป็นโรคที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งเป็นอันตรายอาจทำให้เสียชีวิตได้ พบมากในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ที่อ้วนลงพุง ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ   มีโอกาสเกิดโรคดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นได้ด้วย

อาการของโรคหัวใจขาดเลือด จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกระหว่างช่วงราวนม ลิ้นปี่ จะรู้สึกเหมือนมีอะไรมากดทับ จนหายใจไม่สะดวก ทั้งยังมีอาการอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เช่น เหนื่อยหอบ เหงื่อออก ตัวเย็น ศีรษะเย็น หน้ามืด และใจสั่น ผู้สูงอายุและผู้ใกล้ชิดควรหมั่นเฝ้าสังเกตอาการเหล่านี้ให้ดี หากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

 

โรคมะเร็ง

โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชาย ได้แก่ โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เเละทวารหนัก โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยส่วนใหญ่ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง อาทิ พฤติกรรมการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร รวมถึงพันธุกรรม เป็นต้น

ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจเช็คความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก โอกาสในการรักษาจะสูงกว่าการปล่อยให้เซลล์มะเร็งนั้นลุกลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้การป้องกันมะเร็งคือ การมีจิตใจที่แจ่มใส ไม่เครียด ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ดื่มสุรา และสูบบุหรี่ เป็นต้น

 

โรคความจำเสื่อม

เป็นอาการที่พบได้เมื่ออายุมากขึ้น สังเกตุได้จากการที่ผู้สูงอายุเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ พฤติกรรมและความทรงจำอย่างต่อเนื่อง โดยสัญญาณเตือนว่าผู้สูงอายุอาจมีอาการสมองเสื่อม เช่น เรียนรู้หรือจดจำสิ่งใหม่ๆ ลำบาก พูดซ้ำถามซ้ำ เริ่มบกพร่องในการทำสิ่งที่ซับซ้อน หลงลืมทิศทางที่คุ้นเคย ไม่อยากเข้าสังคมหรือพูดน้อยลง

การป้องกันโรคความจำเสื่อมที่ดีคือ ต้องสังเกตุพฤติกรรมของผู้สูงอายุ หากเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงด้านความคิด ความจำ ต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษา ปัจจุบันโรคความจำเสื่อมยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีวิธีชะลออาการของโรค เช่น การทำกิจกรรมต่างๆ ที่กระตุ้นสมอง เช่น ทำงานหรือทำงานบ้านเท่าที่ทำได้ เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมกับครอบครัวและเพื่อนๆ อ่านหนังสือ เล่นเกม ออกกำลังกาย เป็นต้น

 

ปัญหาการกลั้นการขับถ่ายไม่อยู่

ผู้สูงอายุอาจมีปัญหาในเรื่องของการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนหรืออ่อนล้า กระเพาะปัสสาวะอ่อนไหวเกินไป ความบกพร่องในการควบคุมการกลั้นการขับถ่ายที่เกิดจากสมองหรือเส้นประสาท การรับประทานยาบางชนิด ได้แก่ ยากระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท้องผูก โรคต่อมลูกหมากโต และโรคเบาหวาน

การป้องกันและรักษาทำได้โดยการปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แก้ไขได้ แต่คุณผู้ชายสามารถดูแลเบื้องต้น โดยออกกำลังกายและขยับเขยื้อนให้กล้ามเนื้อร่างกายแข็งแรงขึ้น ฝึกขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานวันละ 50-100 ครั้ง ฝึกการกลั้นปัสสาวะโดยปัสสาวะเป็นเวลาและค่อยๆ ยืดเวลาระหว่างการปัสสาวะ เพื่อฝึกกระเพาะปัสสาวะให้สามารถกลั้นได้มากขึ้น เป็นต้น

 

โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า เป็นอาการเจ็บป่วยทางจิตใจที่สำคัญซึ่งไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งของการฆ่าตัวตายสาเหตุของอาการซึมเศร้าได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง โรคทางกายบางอย่าง การได้รับยาหลายขนานที่ทำให้เกิดอาการเศร้า การสูญเสียสิ่งที่มีค่าในชีวิต เช่น คู่ชีวิต หรือการงานโดยการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น    การเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่ต้องมาเป็นผู้ตาม เป็นต้น

การป้องกันสาเหตุของโรคซึมเศร้านั้นทำได้หลายวิธี เช่น หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียว พยายามปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุนั้นการดูแลสภาพจิตใจเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรก รวมทั้งทำกิจกรรมเข้าสังคมร่วมกับผู้อื่น ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและหาทางรักษาต่อไป

 

โรคกระดูกพรุน

เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตัวเองเป็น เพราะแทบไม่แสดงอาการ กว่าจะทราบก็เมื่อหกล้มกระดูกหักแล้ว โรคกระดูกพรุนคือ การที่เนื้อกระดูกบางลง ทำให้เปราะหักหรือยุบง่าย ส่วนใหญ่พบได้ในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนและผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 70 ปี

การป้องกันทำได้โดยการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก (bone mineral density หรือ BMD) อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะบ่งบอกถึงความหนาบางของมวลกระดูกเมื่อเทียบกับค่ามวลกระดูกที่ปกติในผู้ใหญ่ทั่วไป การตรวจระดับวิตามินดีในเลือดเนื่องจากวิตามินดีช่วยในการดูดซึมแคลเซียมที่รับประทาน หากพบว่ามีระดับที่ต่ำควรรับประทานวิตามินดีเสริม ทานอาหารที่มีแคลเซียมมาก เช่น เมล็ดงา คะน้า บรอกโคลี ข้าวโอ๊ต ปลาซาร์ดีน ถั่วแระ เป็นต้น

 

ปัญหาการทรงตัว และการหกล้ม

ปัญหาการทรงตัวหรือหกล้มในผู้สูงอายุ อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ข้อเสื่อม กล้ามเนื้อลีบและอ่อนแรง โรคทางสมอง ความดันโลหิตลดลงกะทันหันเมื่อลุกขึ้นยืนจากท่านั่งหรือนอน หัวใจเต้นผิดจังหวะ การรับประทานยาต่างๆ ที่มีผลต่อความดันโลหิตหรือทำให้ง่วง สภาพแวดล้อมที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ พื้นที่ลาดเอียงหรือลื่นเปียก เป็นต้น ปัญหาการทรงตัวและการหกล้มเป็นปัญหาที่สำคัญมากสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากอาจมีกระดูกพรุนอยู่แล้ว และเมื่อหกล้มก็อาจทำให้กระดูกหักได้ง่าย ที่สำคัญอาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนที่ตามมาจากการผ่าตัดและนอนโรงพยาบาลนานๆ อีกด้วย

การป้องกันและการดูแล คือ หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้ง่วงซึมหรือความดันโลหิตตก ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเน้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการทรงตัว ปรับสิ่งแวดล้อม เช่น เพิ่มไฟสว่าง พื้นกันลื่น มีราวจับ และตรวจมวลกระดูกเพื่อประเมินหาโรคกระดูกพรุนและรับการรักษาตามความเหมาะสม

 

9 โรคยอดฮิตในชายผู้สูงอายุ ที่ Dr.MDX บอกเล่ามาข้างต้นนั้น ต่างเป็นโรคที่ส่งผลต่อร่างกายและสภาพจิตใจ นอกจากนี้ ยังอาจจะทำให้ครอบครัวและคนรอบข้างเกิดความเครียด และปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย หนึ่งในวิธีป้องกันที่ดีมากๆ คือ การดูแลสุขภาพร่างกายและสภาพจิตใจของคุณและคนที่คุณรักให้แข็งแรงและสดใสอยู่เสมอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคร้ายที่จะเข้ามาสร้างปัญหาให้เราได้ในอนาคต