เพราะผู้ชาย..ก็เป็น “ฝ้า” ได้เช่นกัน

ถึงแม้ผู้ชายอกสามศอกอย่างเราจะเป็นเพศที่แข็งแรง แต่ผิวหน้าของผู้ชายก็ไม่ได้แข็งแรงจนสามารถป้องกันปัญหาการเกิดฝ้าได้ ซึ่งส่วนใหญ่เราอาจจะเคยเห็นแต่ผู้หญิงที่เป็นฝ้าบริเวณใบหน้ากัน แต่พอผู้ชายอย่างเรามาเป็นฝ้าบ้าง หลายๆ คนอาจจะเกิดความสงสัยว่าทำไม…มีอะไรผิดปกติหรือไม่? ดังนั้น วันนี้ Dr.MDX จึงขอพามาหนุ่มๆ มาทำความรู้จักกับ “ฝ้า” รวมถึงวิธีการดูแลเอาใส่ใจผิวหน้า เพื่อป้องกันและรักษาฝ้าตามแบบฉบับของผู้ชายกันครับ

ฝ้า คือ รอยผิวหนังสีน้ำตาล ที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีบริเวณผิวหนังมีการสร้างเม็ดสีที่มากผิดปกติ ทำให้ผิวมีสีคล้ำขึ้น ซึ่งถ้าหากเกิดฝ้าบริเวณผิวหนังชั้นบนจะเห็นเป็นสีน้ำตาล แต่ถ้าอยู่ลึกลงไปในชั้นผิวหนังแท้จะเห็นเป็นสีน้ำเงินเทาๆ (ยิ่งลึกการรักษาก็ยิ่งยากขึ้น) โดยส่วนใหญ่รอยฝ้านี้มักมีลักษณะเท่าๆ กันทั้ง 2 ข้าง และอาจรวมกันเป็นปื้นๆ หรือเข้มเป็นกระจุกก็ได้ และบริเวณที่สามารถพบฝ้าได้บ่อยๆ ก็คือ โหนกแก้ม เหนือริมฝีปาก หนวด คาง และหน้าผาก แต่บางคนก็อาจจะเป็นฝ้าที่ตำแหน่งอื่นๆ ที่มักจะโดนแสงแดดอยู่เป็นประจำ เช่น ที่หน้าอก แขน และแผ่นหลัง เป็นต้น

รศ.นพ.นภดล นพคุณ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า ฝ้ามักพบในผู้หญิงก็จริง แต่ผู้ชายก็สามารถเป็นได้ ถามว่าทำไมผู้ชายเป็น ก็บอกไม่ได้เหมือนกัน เพราะปัจจุบันก็ยังไม่ทราบสาเหตุของฝ้าว่าเกิดจากอะไร และไม่รู้ว่าทำไมบางคนตากแดดทั้งวันไม่เป็นฝ้า ในขณะที่บางคนตากแดดนิดเดียวหน้าก็เริ่มมีสีคล้ำขึ้น หรือผู้หญิงบางคนกินยาคุมการตั้งครรภ์ไม่เป็นฝ้าแต่ในบางคนเป็น ดังนั้น ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดฝ้า ไม่ว่าจะเป็น แสงแดด ฮอร์โมนเพศหญิง โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะเห็นได้ว่า คนที่กินยาคุมกำเนิด คนที่ตั้งครรภ์ อาจเป็นฝ้าได้ ขณะเดียวกันอาจมีเรื่องของพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างผู้ชายที่เป็นฝ้า อาจเป็นเพราะมีปัจจัยเรื่อง พันธุกรรม แสงแดด คงไม่เกี่ยวกับว่ามีฮอร์โมนเพศหญิงเยอะ อีกทั้งเวลาผู้ชายเป็นแล้วหากไม่ดูแลรักษาก็จะยิ่งทำให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก

การรักษาอาจใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยหลักคือ การใช้ยาทาบริเวณที่เป็นฝ้า เพื่อยับยั้งเซลล์สร้างเม็ดสีไม่ให้สร้างเม็ดสี เช่น “ไฮโดรควิโนน” อาจใช้ร่วมกับ “กรดวิตามินเอ” เพื่อลอกเม็ดสี กระตุ้นให้เม็ดสีถูกกำจัดไปจากผิวหนังเร็วขึ้น โดยปริมาณยาที่ใช้ต้องเหมาะสมและอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น ส่วนการใช้เลเซอร์ ยังไม่ใช่มาตรฐานในการรักษา และไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด แพทย์อาจใช้กรณีที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น นั่นก็เนื่องมาจากคนเอเชียหรือคนไทยบางคน เวลายิงเลเซอร์ไปแล้วทำให้เกิดสีผิวหมองคล้ำ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากผิวหนังเกิดการอักเสบจนมีการสร้างเม็ดสีที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาด้วยการลอกหน้าด้วยสารเคมี ที่สามารถช่วยรักษาได้ในกรณีที่เป็นฝ้าตื้นๆ ทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นบนหลุดลอกออกไป แต่ถ้าหากทำบ่อยๆหรือทำมากจนเกินไป อาจทำให้ผิวหน้าหมองคล้ำลงไปอีก

นอกจากการรักษาฝ้าด้วยยาทาภายนอกแล้วยังมีวิธีการรักษาด้วยยากินอีกหรือไม่? ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ รศ.นพ.นภดล ได้กล่าวว่า มียาตัวหนึ่งที่ปกติหมอใช้รักษาในคนไข้โรคเลือด เพื่อให้เลือดแข็งตัว เลือดไม่ไหล แต่ผลข้างเคียงของมัน คือ ถ้ากินปริมาณสูงจะทำให้สีผิวจางลง ก็เลยมีการนำมากินกัน แต่พอหยุดกินสีผิวก็จะกลับมาหมองคล้ำเหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงต่อตับ และอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดได้ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงไม่ได้อนุญาตให้ใช้ในการรักษาฝ้า หรือการทำให้สีผิวจางลง แต่ก็มีคนแอบนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง ทั้งๆที่มันก็ช่วยไม่ได้อย่างถาวรพอหยุดยาก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม

สรุปได้ว่า สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดฝ้านั้นยังไม่รู้ได้แน่ชัด แต่ที่รู้ๆก็คือ แสงแดดเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เกิดฝ้าได้นั่นเอง ซึ่งถ้าหากเป็นแล้วก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพียงแค่ทำให้มันบางหรือจางลงไปได้เท่านั้นเอง ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดฝ้านั่นก็คือ การหลีกเลี่ยงแสงแดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าร้อนที่มีแสงแดดแรงจัด และหากจำเป็นจะต้องออกแดดก็ควรจะทาครีมกันแดด สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด กางร่ม หรือสวมหมวก เพื่อป้องกันรังสี UV ที่จะมาทำร้ายผิวหนังได้โดยตรง แต่ถ้าหากเกิดปัญหาฝ้าขึ้นมาแล้วก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังก็จะเป็นการดีที่สุดครับ

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. บทความเรื่อง “รอบรู้เรื่องฝ้า : 5 วิธีบอกลา “ฝ้า” ฉบับผู้ชาย”
  2. บทความเรื่อง “ผู้ชายเป็น ฝ้า”
  3. บทความเรื่อง “ฝ้าคืออะไร”