นอนกรน ภัย(ไม่)เงียบทำร้ายสุขภาพ

การนอนหลับ คือ การพักผ่อนที่ดีที่สุดและขาดไม่ได้ พอๆ กับการที่คนเราจำเป็นต้องรับประทานอาหารเป็นประจำทุกวัน เพราะการนอนเป็นการช่วยเติมพลังให้แก่ร่างกายและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่มีสิ่งที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ ที่แฝงตัวมากับการนอนก็คือ ภัยร้ายจากการนอนกรน หรือการหลับไม่สนิทนั่นเอง ซึ่งเป็นพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติและอันตรายโดยที่ตัวของเราเองนั้นก็อาจจะไม่รู้ตัวมาก่อน

โดยที่อาการนอนกรน หรือการหลับไม่สนิท หลับไม่เต็มอิ่ม ที่เกิดขึ้นกับคุณผู้ชายนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้ามกันไปได้ง่ายๆ เพราะอาจเป็นความเสี่ยงสำคัญที่นำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรง ซึ่งความน่ากลัวนั้นอาจไม่ถึงกับขั้นที่ว่านอนๆ อยู่แล้วเสียชีวิตได้ทันที แต่มีผลกระทบต่อเรื่องของระบบหัวใจ ที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหัวใจโต ความดันโลหิตสูง และถ้าหากว่ามีโรคเบาหวานอยู่ด้วยแล้วล่ะก็จะทำให้การควบคุมเบาหวานเป็นไปได้ยากมากขึ้นไปด้วย

สาเหตุเนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณหลอดลมที่เริ่มหย่อนยานเนื่องจากอายุที่มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มเกิดตอนช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อีกทั้งปัจจัยเกี่ยวกับน้ำหนักตัวก็มีส่วน โดยผู้ที่มีน้ำหนักมากก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงกว่า นอกจากนี้ยังเกี่ยวโยงกับโครงสร้างของใบหน้าด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในคนเอเชียผู้ที่มีปัญหาเรื่องคอสั้น หน้าสั้นและค่อนข้างจะแบนนิดหนึ่ง ซึ่งโครงสร้างแบบนี้จะทำให้ช่องทางเดินหายใจส่วนบนแคบ ก็ยิ่งจะเกิดการกรนได้ง่ายขึ้น บวกกับการออกกำลังกายที่น้อยลงก็มีผลทำให้เกิดได้เช่นกัน เพราะทำให้กล้ามเนื้อส่วนดังกล่าวนี้หย่อนยาน และยิ่งจะหย่อนมากขึ้นเวลาที่หลับลึก ซึ่งพอเริ่มหลับลึกก็จะหย่อน และพอหย่อนแล้วหลอดลมก็จะแฟบลง ออกซิเจนก็จะไปเลี้ยงสมองไม่พอ สมองก็จะสั่งให้ตื่น ทำให้เกิดอาการหลับๆ ตื่นๆ ได้บ่อย หรือเรียกว่าหลับไม่เต็มอิ่มนั่นเอง

ดังนั้น คนที่นอนกรนก็มีโอกาสที่จะหลับได้ไม่เต็มอิ่มค่อนข้างสูงกว่าคนปกติที่ไม่ได้นอนกรน และสำหรับใครก็ตามที่นอนกรน ก็ควรที่จะต้องสังเกตตัวเองในเบื้องต้นสักหน่อยด้วยว่ามีอาการหยุดหายใจหรือไม่ เพราะคนนอนกรนบางคนอาจจะไม่ได้หยุดหายใจ แต่อาจจะเป็นเรื่องของทางเดินหายใจท่อนบนตีบตัน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ไซนัส หรือบางคนที่ต่อมทอนซิลโต ก็คือจะมีอาการนอนกรน แต่ไม่ได้หยุดหายใจร่วมด้วย

ต้องสังเกตตัวเองว่า ถ้ามีอาการตื่นมาตอนเช้า ทั้งๆ ที่ชั่วโมงในการนอนเพียงพอ อย่างน้อยๆ 6-8 ชั่วโมง แต่ตื่นมาแล้วเหมือนกับนอนไม่พอ ตื่นเช้ามาแล้วไม่สดชื่นเลย พอสายๆ ก็มักจะง่วง โดยเฉพาะหลังทานข้าวเที่ยง ขับรถตอนบ่ายๆ อยู่คนเดียวเฉยๆ นั่งตอนเข้าประชุมแล้วง่วงตลอด นี่คืออาการสำคัญที่เตือนว่า หลับไม่เต็มอิ่ม หากสังเกตอย่างใกล้ชิดจะพบว่าผู้ที่นอนกรนจะหยุดกรนไปชั่วขณะหนึ่ง ช่วงนั้นเองที่มีการหยุดหายใจเกิดขึ้น และเมื่อระดับออกซิเจนในเลือดลดลงถึงระดับหนึ่งจากการหยุดหายใจ ร่างกายจะมีกลไกตอบสนองภาวะนี้ โดยจะทำให้การหลับของคนที่กรนและหยุดหายใจนั้นถูกขัดขวาง ผลก็คือ ทำให้ตื่นขึ้นโดยจะมีอาการเหมือนสะดุ้งเฮือก หรืออาการเหมือนสำลักน้ำลายตนเอง แล้วก็กลับมาเริ่มหยุดหายใจใหม่

ซึ่งหากความรุนแรงของอาการกรนอยู่ในระดับน้อย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบการดำเนินชีวิตอาจช่วยให้ดีขึ้น เช่น การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย งดดื่มสุราหรือรับประทานอาหารก่อนนอน 3 ชั่วโมง แต่หากมีภาวะดังกล่าวในระดับปานกลางถึงมาก ก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การผ่าตัดเนื้อเยื่อคอ ขากรรไกร ลิ้น หรือลิ้นไก่ เพื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น การใช้เครื่องเป่าลมในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ [continuous positive airway pressure (CPAP) titration] ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ดีสุดในขณะนี้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้เครื่องมือในช่องปากอีกด้วย ซึ่งการเลือกใช้วิธีในการรักษาใดๆ ก็ตาม จะพิจารณาจากทั้งความรุนแรง ความเหมาะสม โดยจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจสอบการนอนหลับ (polysomnography) เพื่อประเมินคุณภาพการนอนหลับและดูระดับความรุนแรงของโรค เป็นต้น

ถึงแม้ว่าการนอนหลับจะเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดก็ตาม แต่การนอนก็ต้องเป็นการนอนอย่างมีคุณภาพ เพื่อที่จะได้ตื่นนอนขึ้นมาในตอนเช้าด้วยความสดชื่นพร้อมเริ่มวันใหม่ เพราะถ้าหากร่างกายนอนหลับพักผ่อนได้ไม่เพียงพอหรือเหมาะสม ก็จะส่งผลเสียต่อร่างกาย สภาวะอารมณ์ และการดำเนินชีวิตประจำวันได้ครับ  //  Dr.MDX 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. บทความเรื่อง “ทำไมผู้ชายจึงกรน”
  2. บทความเรื่อง “ภัย! กรน-นอนไม่หลับผู้ชายเสี่ยงกว่าหญิง”
  3. บทความเรื่อง “อาการนอนกรน (SNORING) คืออะไร?”