กินอยู่อย่างไร..ให้ห่างไกล “ไขมันพอกตับ”

กินอยู่อย่างไร..ให้ห่างไกล “ไขมันพอกตับ” 

โรคไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease) หรือไขมันเกาะตับ เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากการสะสมไขมันในตับมากเกินปกติ คือ ประมาณ 5-10% ของตับ โดยน้ำหนักไขมันที่เข้าไปแทรกตับนั้น มักเป็นชนิดไตรกลีเซอไรด์ ภาวะนี้เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่ทำให้ผลการตรวจการทำงานของตับผิดปกติ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดใดๆ แต่อาจเป็นภัยเงียบที่เราอาจไม่รู้ตัว!!!

สาเหตุการเกิดโรคไขมันพอกตับ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับเพศ ประเภท ปริมาณ และระยะเวลาที่ดื่มแอลกอฮอล์ เรียกว่า alcoholic fatty liver disease
  2. ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
  • กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานสูงของร่างกาย (metabolic syndrome) เช่นโรคอ้วน (ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25) โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง
  • การรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงเป็นประจำ เช่น แป้ง น้ำตาล และไขมัน
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาต้านไวรัสบางชนิด ยากลุ่มสเตียรอยด์ และยากลุ่มต้านฮอร์โมน

กลุ่มเสี่ยงที่อาจมีภาวะไขมันพอกตับ 

  1. คนอ้วน ผู้ชายรอบเอวเกิน 40 นิ้ว ผู้หญิง รอบเอวเกิน 35 นิ้ว
  2. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีน้ำตาลในเลือดมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  3. ผู้ที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  4. ผู้ที่มีไขมันดี หรือ HDL ต่ำ (ผู้ชาย น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ผู้หญิง น้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
  5. ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป

รู้ได้อย่างไรว่าเริ่มมีไขมันพอกตับ?

ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยแสดงอาการ และมักตรวจพบได้จากการตรวจเลือดประจำปี หรืออัลตราซาวนด์ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้เล็กน้อย รู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวา

ไขมันพอกตับสามารถแบบออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะแรกเป็นระยะที่มีไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับ แต่ยังไม่มีการอักเสบ หรือพังผืดเกิดขึ้นในตับ
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่เริ่มมีอาการอักเสบของตับ หากไม่ควบคุมดูแล และปล่อยให้การอักเสบดำเนินไปเรื่อยๆ เกินกว่า 6 เดือน อาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
  • ระยะที่ 3 การอักเสบรุนแรงต่อเนื่องจนเกิดเป็นพังผืด (fibrosis) สะสมในตับ ทำให้เซลล์ตับค่อยๆ ถูกทำลายลง และถูกแทนที่ด้วยพังผืด
  • ระยะที่ 4 เซลล์ตับถูกทำลายไปมาก ตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป ทำให้เกิดตับแข็งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้ในที่สุด

แนวทางการรักษา และป้องกันภาวะไขมันเกาะตับ

  1. หากมีน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนักโดยให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย โดยการลดน้ำหนักประมาณ 25 – 0.5 กิโลกรัม/สัปดาห์ จนกระทั่งน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  2. ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ครั้งละ 30 นาที หากเป็นไปได้ควรออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิกและแบบมีแรงต้าน เช่น เดินเร็วครึ่งชั่วโมง แล้วตามด้วยการยกน้ำหนักแบบแรงกระแทกต่ำ
  3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไขมันต่ำ กากใยสูง และให้พลังงานต่ำ
  4. ผู้ป่วยที่มีเบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมโรคให้ดีด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ร่วมกับการควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย
  5. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง
  6. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  7. ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

นอกเหนือจากแนวทางการรักษา และป้องกันภาวะไขมันพอกตับตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การรับประทานสมุนไพร และอาหารเสริมบางชนิดที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ก็สามารถช่วยขับสารพิษออกจากตับได้ เนื่องจากในปัจจุบันการใช้ยาเพื่อรักษาภาวะไขมันพอกตับยังมีข้อมูลไม่มากพอ แต่อย่างไรก็ตาม จากการศึกษา พบว่า การใช้สารต้านอนุมูลอิสระสามารถช่วยทำให้ระดับ ALT[1] และ AST[2] กลับสู่ภาวะปกติได้ นอกจากนี้ วิตามินบี และแมกนีเซียม ยังมีคุณสมบัติในการช่วยเยียวยา และกระตุ้นการซ่อมแซมเซลล์ตับที่เสียหายได้อีกด้วย

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. บทความเรื่อง “ไขมันพอกตับ ภัยเงียบที่คุณอาจไม่ทันรู้ตัว (Fatty Liver Disease)” https://bit.ly/2VVitEz
  2. บทความเรื่อง “ไขมันพอกตับ” https://bit.ly/3iQtwrz
  3. บทความเรื่อง “เกิดอะไรขึ้นเมื่อไขมันพอกตับ” https://bit.ly/3yUUmo0
  4. บทความเรื่อง “โรคไขมันพอกตับ (NAFLD)” https://bit.ly/2VRAa81
  5. บทความเรื่อง “การตรวจ ALT (SGPT) : Alanine aminotransferase คืออะไร ?” https://bit.ly/3AGA9mk

 

[1] ALT (Alanine transaminase) หรือ Alanine aminotransferase ค่า ALT นับเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญอย่างยิ่งตัวหนึ่งในการวิเคราะห์ผลข้างเคียงหรือพิษต่อตับจากยารักษาโรคบางชนิด (เช่น ยาลดคอเลสเตอรอล) จึงสรุปได้ว่า หากตับได้รับพิษจากยา แอลกอฮอล์ อาหาร หรือจากการถูกโจมตีด้วยเชื้อไวรัส ก็ย่อมมีผลทำให้ค่า ALT สูงขึ้นได้เสมอ

[2] AST : ALT (DeRitis ratio) เนื่องจากการตรวจเลือดเพื่อหาค่า ALT มักจะต้องตรวจหาค่า AST ควบคู่ไปด้วยเสมอ และพบว่าอัตราส่วนระหว่าง AST : ALT นั้น อาจช่วยบ่งชี้โรคตับอย่างหยาบ ๆ ได้

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.