จากบทความที่แล้ว Mr.Connesso ได้พูดถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปีกันไปบ้างพอหอมปากหอมคอ ซึ่งหลายคนคงจะเริ่มตระหนักและเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปีกันบ้างไม่มากก็น้อย แต่บางคนอาจจะยังมีคำถามและข้อสงสัยว่าเพศ และช่วงอายุที่แตกต่างกันนั้นจะส่งผลต่อโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างไรบ้าง วันนี้เรามาลองหาข้อมูลเบื้องต้นของการตรวจสุขภาพประจำปีไปพร้อมๆกันดีกว่าครับ
โปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีของคนแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพโดยรวม ประวัติครอบครัว และรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าจะต้องตรวจอะไรบ้าง และมีความถี่ในการตรวจมากน้อยสักแค่ไหน ซึ่งทั่วๆ ไปแล้วโปรแกรมการตรวจสุขภาพเบื้องต้นจะแบ่งตามเพศและอายุ โดยแพทย์แนะนำให้ตรวจทุกๆ 1 ปี สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษอาจจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมและตรวจบ่อยขึ้น โดยปกติผู้ที่เริ่มเข้าสู่ในวัยผู้ใหญ่ สมควรได้รับการตรวจสุขภาพ ซึ่งการตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงอายุนั้น อาจจะมากจะน้อยแตกต่างกัน เนื่องจากความเสี่ยงของการเกิดโรคของคนในแต่ละช่วงอายุนั้นมีความแตกต่างกันออกไป เช่น ถ้าตรวจโรคๆ หนึ่งที่แทบไม่พบเลยในคนหนุ่มสาว หรืออาจต้องตรวจหลายพันคนหรือเป็นหมื่นคน จึงจะพบโรคดังกล่าวสัก 1 คน การตรวจนั้นก็อาจจะไม่เหมาะสม เป็นต้น
การตรวจสุขภาพประจำปี จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพที่หลายๆ คนควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะคนในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ แต่เมื่อได้เห็นโปรแกรมการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชนจัดออกมาแนะนำแก่ประชาชนทั่วไปนั้น มีรายการในโปรแกรมที่จะต้องตรวจยาวเป็นหางว่าว จนบางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่า มันจำเป็นที่จะต้องตรวจตามรายการที่ระบุมาในโปรแกรมทั้งหมดนี้เลยเหรอ ดังนั้น วันนี้ Mr. Connesso เลยอยากจะขอนำเสนอแนวทางในการตรวจสุขภาพที่จำเป็น และเหมาะสมสำหรับประชาชนทั่วไปให้ได้ทราบกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้คร่าวๆ ดังต่อไปนี้
โปรแกรม ตรวจสุขภาพ ขั้นพื้นฐาน สำหรับผู้ที่อายุไม่เกิน 30 ปี
- การตรวจร่างกายโดยแพทย์ (Physical Examination)คือ การพบแพทย์เพื่อซักถามรวบรวมข้อมูลประวัติสุขภาพ และบันทึกลงใน “สมุดบันทึกสุขภาพ” เมื่อแพทย์ได้วิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยต่างๆ จากประวัติสุขภาพแล้วก็จะได้ดำเนินการ ตรวจร่างกาย รวมทั้งเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเฉพาะด้านสำหรับเรา เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่มีความแม่นยำสำหรับตัวเรามากยิ่งขึ้น
- การตรวจวัดพื้นฐานหาค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index – BMI) ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายเกิน 25 ถือว่าอ้วน มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลายอย่าง เช่น ไขมันในเลือดสูง เส้นเลือดหัวใจตีบตัน ความดันโลหิตสูง อัมพฤต อัมพาต โรคกระดูกและไขข้อ โรคเบาหวาน ฯลฯ
- การวัดความดันโลหิต (Blood Pressure) ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 140 /90 มม.ปรอท ถือว่าสูงกว่าปกติ มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจโต หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบตันหรือแตก ทำให้เป็นอัมพาต หรือเสียชีวิตได้
- การตรวจเอ็กซเรย์ปอดและหัวใจ (Chest X-Ray)เพื่อหาสิ่งผิดปกติในช่องทรวงอก เช่น ก้อนหรือจุดดำในปอดที่สามารถบ่งชี้ถึงโรคต่างๆ ของปอดรวมถึงวัณโรค อีกทั้งสามารถดูขนาดของหัวใจได้
- การตรวจเลือด เราสามารถวิเคราะห์ความผิดปกติได้ โดยเปรียบเทียบค่าที่ได้จากห้องแลปกับค่ามาตรฐาน ถ้าสูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานเป็นภาวะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ข้อมูลนี้ทำให้เรารู้ว่าควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง เช่น หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด
- การตรวจสมรรถภาพของไต รู้หรือไม่ว่าไตทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้นถ้าไตทำงานผิดปกติ จะมีของเสียคั่งค้างอยู่ในร่างกายมาก ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในเลือด จากค่า Blood Urea Nitrogen-BUN และ Creatinine ซึ่งเป็นการวัดความสามารถในการขับของเสียไต
- ตรวจการทำงานของตับ เป็นการตรวจสมรรถภาพการทำงาน และเอนไซม์ ว่ามีระดับความผิดปกติหรือไม่ รวมถึงสามารถบ่งชี้ถึงการบาดเจ็บหรืออักเสบของอวัยวะอันเนื่องมาจากการทานยาบางชนิด นอกจากนี้ ควรตรวจหาไวรัสตับอักเสบเอ บี และซี (Hepatitis A, B, C) เพราะทำให้ผู้เป็นมีโอกาสเป็นมะเร็งตับมากกว่าคนทั่วไป หากตรวจไม่พบเชื้อ และไม่พบภูมิคุ้มกัน เราสามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันได้ทัน
- การตรวจปัสสาวะ (Urine Examination)ช่วยในการหาความผิดปกติของระบบไตและทางเดินปัสสาวะ
โปรแกรมตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน สำหรับผู้ที่อายุ 30 ปีขึ้นไป
- ในช่วงอายุ 30 – 40 ปี
ทั้งในชายและหญิง ควรตรวจตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(EKG) และตรวจอุจจาระ
หญิง : ตรวจมะเร็งปากมดลูก-มะเร็งรังไข่, อัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง ตรวจมะเร็งเต้านม
ชาย : อัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน
- ในช่วงอายุ 40 – 50 ปี
ทั้งในชายและหญิง ควรตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ (TSH) อัลตร้าซาวด์ช่องท้องทั้งหมด ตรวจสุขภาพสายตาความดันลูกตาและการได้ยิน ตรวจวัดการแข็งตัวของหลอดเลือด และตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง ซึ่งการตรวจมีหลากหลายประเภท เช่น ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ (AFP) สารบ่งชี้มะเร็งทางเดินอาหาร (Carcinoembrionic Antigen-CEA)
หญิง : ตรวจมะเร็งปากมดลูกและ HPV
ชาย : ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก(Prostate Specific Antigen-PSA)
- ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป
ควรตรวจมวลกระดูกทั้งร่างกาย ตรวจหาอัตราความเสื่อมของกระดูก และตรวจภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
จะเห็นได้ว่าการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชนทั่วไปนั้น จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ 1.การตรวจสุขภาพตามหลักวิชาการโดยแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งจะเน้นซักถามประวัติสุขภาพและการตรวจร่างกายเป็นหลัก และ 2.การตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการตรวจแล็บ จะตรวจเฉพาะในรายที่มีข้อมูลหลักฐานบ่งชี้ว่ามีความจำเป็นเท่านั้น
ดังนั้น การตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมก็ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเสมอไป ซึ่งในหลายๆรายการที่เราคิดว่าเป็นการตรวจสุขภาพที่จำเป็น บางทีก็ไม่ได้จำเป็นสำหรับเราเสมอไป หากจะไปตรวจสุขภาพครั้งต่อไป ก็ควรเลือกตรวจเฉพาะในรายการที่สำคัญ และเหมาะสมกับช่วงอายุของเราก็เพียงพอแล้ว เพื่อจะได้ไม่เป็นการสิ้นเปลืองเวลาที่จะต้องมาตรวจเพิ่มในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และไม่ต้องมาเสียเงินค่าตรวจสุขภาพที่สูงเกินความจำเป็นอีกด้วยครับ // Dr.MDX
ข้อมูลอ้างอิง
- บทความเรื่อง “สุขภาพประจำปี! ควรตรวจอะไรและดีกับคุณอย่างไร?”
- บทความเรื่อง “คู่มือตรวจสุขภาพแต่ละช่วงวัย อายุเท่าไร ควรตรวจอะไรบ้าง
- บทความเรื่อง “การตรวจสุขภาพประจำปีในผู้สูงอายุ”