รู้หรือไม่! แบคทีเรียดีหรือร้ายกับร่างกายเราอย่างไร?

แบคทีเรีย ชื่อนี้ใครๆ ก็ต้องเคยได้ยิน แน่นอนว่าเราทุกคนเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับแบคทีเรียกันมาแล้วทั้งนั้น บ้างก็ว่าแบคทีเรียนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกาย บ้างว่าแบคทีเรียนั้นเป็นอันตราย อาจทำให้ร่างกายเจ็บป่วยขึ้นมาได้ จริงๆ แล้วแบคทีเรียนั้นคืออะไร ดีหรือร้าย มีประโยชน์หรือให้โทษกับร่างกายของเราอย่างไร

วันนี้ Dr.MDX จึงมีเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับแบคทีเรียมาฝากทุกคนกันครับ

แบคทีเรีย คือ อะไร?

แบคทีเรีย คือ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กมากๆ ที่ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าเห็นได้ แบคทีเรียบางชนิดนั้นเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ แต่ก็มีแบคทีเรียอีกหลายชนิดที่อาจเป็นโทษและทำให้ร่างกายของเราเกิดอันตรายได้

แบคทีเรียบางชนิดสามารถทำให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ ในขณะเดียวกันก็มีแบคทีเรียบางชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง แบคทีเรียส่วนใหญ่สามารถอยู่เป็นอิสระนอกร่างกายมนุษย์ได้ มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่จำเป็นจะต้องอาศัยอยู่ในเซลล์ของมนุษย์เพื่อการดำรงชีวิต

ประเภทของแบคทีเรีย

จากที่กล่าวไปแล้วว่า แบคทีเรียนั้นไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูงเพื่อจะมองเห็นรูปร่างของแบคทีเรีย หากจะแบ่งประเภทแบคที่เรียเป็นประเภทนั้น ก็มีการจำแนกประเภทแบคทีเรียได้หลายรูปแบบ

การจำแนกแบคทีเรียตามรูปร่าง เช่น รูปร่างกลมซึ่งเรียกว่า คอคคัส (Coccus) และ รูปร่างเป็นแท่งเรียกว่า บาซิลลัส (Bacillus) มีได้ทั้งเป็นแท่งสั้นและเป็นแท่งยาว อยู่รวมเป็นกลุ่ม อยู่เดี่ยวๆ หรือเรียงตัวต่อกันเป็นสายคล้ายสายสร้อย เป็นต้น ซึ่งรูปร่างของแบคทีเรียเหล่านี้เป็นสิ่งที่ใช้บอกชนิดของแบคทีเรียเบื้องต้นได้

นอกจากนี้ การจะมองเห็นแบคทีเรียได้นั้นนักวิทยาศาสตร์อาจต้องทำการย้อมสี หรือที่เรียกว่า การย้อมสีแกรม (Gram stain) เชื้อแบคทีเรียแต่ละชนิดจะติดสีแกรมแตกต่างกันไป ถ้าติดสีน้ำเงินเรียกว่าติดสีแกรมบวก (Gram positive) ถ้าย้อมแล้วแบคทีเรียติดสีแดงเรียกว่าติดสีแกรมลบ (Gram negative) การติดสีแกรมที่แตกต่างกันนี้สามารถนำมาใช้บอกชนิดของแบคทีเรียเบื้องต้นได้เช่นกัน

แต่สำหรับคนทั่วไปอย่างเราแล้ว เราอาจจำแนกแบคทีเรียได้ 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

1.แบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

แบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเรานั้นมีอยู่หลายชนิด โดยแบคทีเรียเหล่านี้ช่วยระบบต่างๆ ของร่างกายเราทำงาน เช่น แบคที่เรียที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารจะช่วยย่อยสลายอาหารและกระตุ้นให้มีสุขภาพดีได้ ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่าแบคทีเรียบางชนิดที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร อาจมีประโยชน์ต่อการรักษาโรคอ้วนหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญของร่างกายได้ในอนาคต

หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อแบคทีเรียอย่าง แลคโตบาซิลัส แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นแบคทีเรียประเภทเดียวกันกับที่พบในอาหารหมักอย่างโยเกิร์ต แลคโตบาซิลลัสบางสายพันธุ์มีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย และบางสายพันธุ์อาจมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสในนมได้อีกด้วย

2.แบคทีเรียที่มีโทษต่อร่างกาย

มีแบคทีเรียจำนวนมากที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็มีแบคทีเรียอีกไม่น้อยที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายของเราแล้ว อาจทำให้ร่างกายของเราเกิดโรคร้ายได้ โดยแบคทีเรียเหล่านี้แบ่งได้เป็น

อีโคไล

เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของคนและสัตว์ ส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และยังสำคัญต่อลำไส้ด้วย แต่มีอีโคไลบางสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกาย เช่น ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและโรคปอดบวม เป็นต้น โดยเชื้ออีโคไลสามารถแพร่สู่คนผ่านทางอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน รวมทั้งการสัมผัสกับคนและสัตว์ก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน นอกจากนี้ เชื้ออีโคไลบางสายพันธุ์อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีอันตรายร้ายแรงอย่างไตวายได้อีกด้วย

สเตรปโทคอกคัส

แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ มากมาย โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มเอและกลุ่มบี กลุ่มเอหรือที่เรียกว่า GAS มักส่งผลต่อผิวหนังและคอ โดยอาจทำให้เกิดความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย เช่น โรคแผลพุพอง เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ คออักเสบ ไข้อีดำอีแดง เป็นต้น แต่บางคนอาจมีเชื้อชนิดนี้อยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการใด ๆ เลยก็ได้

ส่วนเชื้อสเตรปโทคอกคัสกลุ่มบีหรือที่เรียกว่า GBS เป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้กับทุกช่วงอายุ หากติดเชื้อในทารกก็อาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยมีอาการที่พบได้บ่อย คือ เป็นโรคติดเชื้อ ปอดบวม และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่เมื่อติดเชื้อในผู้ใหญ่มักมีอาการอย่างปอดบวม เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือติดเชื้อที่กระดูกและข้อ

อาการการติดเชื้อแบคทีเรีย

สำหรับผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย มักมีอาการหลายแบบ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอาการจะมีดังนี้

มีไข้

เป็นอาการที่มักจะเกิดขึ้น หากเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเกือบทุกชนิด ลักษณะการเกิดไข้จะแตกต่างกันไปในแต่ละโรคและแต่ละชนิดของเชื้อแบคทีเรีย

เป็นหนอง

ลักษณะของหนองอาจเกิดที่แผลมีหนองไหลออกมา หรือเป็นฝี หรือมีน้ำมูก หรือเสมหะสีเขียวข้นหรือเหลือง

มีอาการปวดเจ็บ

ในบริเวณที่มีการติดเชื้อ เช่น ปวดท้องน้อยด้านขวาในโรคไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น

มีอาการบวม

จากการติดเชื้อเกิดได้ทั้งอวัยวะภายนอก เช่น ผิวหนังบวมและปวด หรืออวัยวะภายในบวมเช่น ปอดที่ติดเชื้อแบคทีเรียจะบวมใหญ่เรียกว่าโรคปอดบวม เป็นต้น

การรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย

การรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าเชื้อแบคทีเรียนั้นทำลายระบบใดของร่างกาย แต่โดยทั่วไปแล้วจะรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ก็ต้องทำการเพราะเชื้อเพื่อเลือกตัวยาให้เหมาะกับเชื้อแบคทีเรียนั้นๆ ด้วย

การผ่าตัดก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่นำมารักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณผิวหนัง เช่น การเป็นฝี เป็นต้น

การรักษาโดยการให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เป็นวิธีที่นำมารักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียเช่น โรคบาดทะยัก แพทย์จะฉีดเซรุ่มเพื่อยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย หรือการฉีดวัคซีนป้องกันไม่ให้เกิดโรคล่วงหน้า ก็เป็นวิธีกระตุ้นให้ร่างกายของผู้ป่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานเพื่อต่อต้านโรคได้

นอกจากนี้ยังมีการรักษาแบบประคับประคองอาการ ซึ่งแพทย์อาจจะให้ยา หรือ สารอาหารต่างๆ เพื่อประคองอาการและยับยังการติดเชื้อจากแบคทีเรีย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าจะรักษาอย่างไร

การป้องกันแบคทีเรียให้โทษชนิดต่างๆ

จะเห็นแล้วว่ามีแบคทีเรียจำนวนมากที่ส่งผลร้ายต่อร่างกายของเรา แต่อย่างไรก็ตาม หากเราดูแลตนเองอย่างเหมาะสม ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกัน และสามารถต่อสู้กับแบคทีเรียต่างๆ ได้

หากคุณต้องการห่างไกลจากแบคทีเรียร้ายๆ คุณสามารถปฏิบัติตัวได้ดังนี้

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายนั้นช่วยคลายเครียด เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายแข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ ลงได้

ล้างมือให้สะอาด ก่อนหรือหลังทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ล้างมือก่อนและหลังดูแลผู้ป่วย ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนทำแผล หลังจากเข้าห้องน้ำ หลังจากเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารก หลังจากไอหรือจาม หลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยงหรือขยะ เป็นต้น

ไม่ใช้ภาชนะของผู้อื่นและไม่ใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่นในการรับประทานอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

รับประทานอาหารที่สะอาดและปลอดภัย โดยใช้วิธีต่างๆ เช่น รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ล้างวัตถุดิบด้วยการเปิดน้ำให้ไหลผ่านก่อนปรุงหรือก่อนรับประทาน ไม่ใช้เขียงร่วมกันระหว่างของดิบและของที่ปรุงสุกแล้ว เป็นต้น

ป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจาย ด้วยการใช้ผ้าปิดปาก ใช้กระดาษชำระ หากไม่มีผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษชำระ ให้ยกข้อศอกหรือต้นแขนขึ้นมาปิดปากเมื่อไอหรือจาม เพราะการไอหรือจามอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้

ไม่ควรบีบ เกา แกะ บริเวณที่เป็นแผลหรือสิว เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้

หากเกิดแผล ควรทำความสะอาดและใช้ผ้าปิดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่หากแผลมีความรุนแรง เป็นแผลที่โดนสัตว์หรือคนกัด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

มีเพศสัมพันธ์ด้วยวิธีที่ปลอดภัย ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ไปตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีรวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ทั้งตนเองและคู่นอน

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ

ถึงแม้ว่าคุณจะดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง และปฏิบัติตัวให้ห่างไกลจากปัจจัยในการติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว ก็อาจจะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียด้วยปัจจัยอื่นๆ ที่เราคาดไม่ถึงได้ หากเกิดปัญหาการติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว คุณควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อให้สุขภาพร่างกายของเรานั้นกลับมาแข็งแรงได้อย่างเดิม

ที่มา www.pobpad.com, haamor.com