เมื่อผู้ชายอย่างเราๆ เริ่มอายุย่างเข้าเลข 4 การเปลี่ยนแปลงที่ผู้ชายทุกคนต้องเผชิญนั่นก็คือ ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน (Testosterone) จะลดลง ซึ่งจะมีผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ทั้งการสร้างกล้ามเนื้อ ระบบเผาผลาญไขมัน และความแข็งแรงของโครงสร้างกระดูก รวมไปถึงระบบสืบพันธุ์จนเกิดการหย่อนสมรรถภาพในวัยชรา ทำให้เกิด “วัยทอง” ในผู้ชายนั่นเอง
วัยทอง หรือ (Golden Age) หมายถึง วัยแห่งความสำเร็จในชีวิตการงาน แต่ในวัยนี้สุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจนั้นจะถูกบั่นทอนจากความเสื่อมของร่างกายตามอายุที่มากขึ้น และความบกพร่องของฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีอิทธิพลต่อบทบาทในการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน ร้อนวูบวาบ และอาการต่างๆ ตามมา ถึงแม้ว่าวัยทองในผู้ชายมักมีอาการไม่ชัดเจนเท่าผู้หญิงวัยทอง แต่อาการที่สังเกตได้ก็คือ มีความต้องการทางเพศลดลง ความแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศในวัยทอง รู้สึกไม่ค่อยมีแรง ความสนุกสนานในชีวิตลดลง บางครั้งรู้สึกเศร้า ความสามารถในการเล่นกีฬาลดลง ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
ไม่เพียงแต่ผู้ชายอายุเลข 4 ที่เข้าสู่วัยทองเท่านั้น ผู้ชายอายุเลข 3 ก็สามารถเข้าสู่วัยทองก่อนวัยอันควรได้เช่นกัน หากเครียด พักผ่อนน้อย สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย ชอบทานอาหารรสหวาน รวมถึงการขาดสารอาหารบางประเภท เช่น ธาตุสังกะสี เป็นต้น การเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน เป็นต้น และปัจจัยด้านกรรมพันธุ์
นี่คือความจริงที่ผู้ชายจะต้องยอมรับ เพราะโดยธรรมชาติฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนมีผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบเผาผลาญไขมัน (Metabolism) การสร้างกล้ามเนื้อเพศชาย ความแข็งแรงของโครงสร้างกระดูก เป็นต้น
ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนคืออะไร ?
เทสโทสเตอร์โรน คือ ฮอร์โมนเพศชายที่มีความสำคัญมาก สมองจะควบคุมการสร้างเทสโทสเตอร์โรนที่ผลิตจากลูกอัณฑะ ซึ่งผู้ชายจะมีปริมาณฮอร์โมนชนิดนี้มาก มีหน้าที่หลักหลายประการ
- กระตุ้นให้แสดงลักษณะความเป็นชายแบบครบวงจร
- สร้างเชื้อสเปิร์มอสุจิ เพิ่มความแข็งแกรงให้อสุจิ
- กระตุ้นความต้องการทางเพศของผู้ชายให้มากยิ่งขึ้น
- เพิ่มปริมาณของขนตามร่างกายทุกส่วน
- สร้างกล้ามเนื้อและกระดูกให้แข็งแรง
- เสริมสุขภาพที่สมบูรณ์โดยรวมของร่างกาย
การมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนน้อย จะส่งผลต่อความเป็นชายหลายอย่าง ทั้งเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อสุจิน้อยและไม่ค่อยเคลื่อนไหว น้องชายแข็งตัวไม่ดี เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน อาจส่งผลต่อหน้าอกโตขึ้นด้วย
ดังนั้น เมื่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเริ่มลดลงในช่วงอายุ 42 – 45 ปี จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย อาทิ ลงพุง อ้วนง่าย ผมร่วง ความต้องการทางเพศลดลง รวมถึงมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยเฉพาะความเป็นชายที่ลดลงอย่างมากจนเห็นได้ชัด
อาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจและการดำเนินชีวิตหากไม่สามารถปรับตัวได้ ซึ่งอาการวัยทองในผู้ชายสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
อาการทางด้านร่างกาย จะมีอาการอ่อนเพลีย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เหงื่อออกมาก นอนไม่ค่อยหลับ กำลังวังชาลดลง เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัวโดยไม่มีสาเหตุ ไม่กระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อต่างๆ ลดขนาดลง ไม่มีแรง
อาการทางด้านจิตใจ จะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีแรงจูงใจในการทำอะไร เป้าหมายในชีวิตเปลี่ยนไป เศร้า เหงา เครียดและหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย เฉื่อยชา ขี้บ่นมากขึ้น ขี้น้อยใจเพิ่มขึ้น ไม่อยากไปไหน อยากอยู่คนเดียว นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท ตื่นมาไม่สดชื่น ขาดสมาธิในการทำงาน ความจำลดลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น
หย่อนสมรรถภาพทางเพศและความต้องการทางเพศลดลง หรือไม่มีอารมณ์เพศ บางคนเกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วย เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เพศ เมื่อระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงจึงไม่เกิดอารมณ์ที่จะมีเพศสัมพันธ์และอวัยวะไม่แข็งตัว
อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ รู้จักกันในชื่อ Erectile Dysfunction หรือเรียกสั้นๆ ว่า ED เป็นอาการที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้สมบูรณ์ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ เรียกแบบที่รู้จักกันดี ก็ อาการนกเขาไม่ขัน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในวัยทอง
กระดูกและกล้ามเนื้อพรุน ผลของการขาดฮอร์โมนเพศชายจะทำให้กระดูกบางลง เป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นเดียวกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน นอกจากนี้กล้ามเนื้อจะค่อยๆ ลดขนาดลง มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง
“วัยทอง” เป็นกฎของธรรมชาติ ซึ่งทุกอย่างก็จะเสื่อมถอยลงไปตามธรรมชาติ สิ่งที่จะช่วยให้ปรับตัวได้ดีก็คือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น นั่นก็เพราะว่าเราไม่สามารถเอาชนะมันได้ แต่เราสามารถจัดการชีวิตของเราให้ลงตัวได้ และสำหรับคุณผู้ชายท่านใดที่อาการวัยทองรบกวนจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการปรึกษาและรับคำแนะนำ โดยแพทย์อาจจะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศว่าลดลงมากน้อยแค่ไหน มีความรุนแรงในระดับใด รวมถึงเกี่ยวเนื่องกับสาเหตุอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งวิธีรักษาอาการวัยทองนั้นมีด้วยกันหลายรูปแบบด้วยกัน ตั้งแต่การฟื้นฟูทางด้านจิตใจไปจนถึงการใช้ยา หลายอย่างสามารถคงไว้ได้อีกสักระยะหนึ่ง อย่าง สมรรถภาพทางเพศที่บางคงหมดไป ทั้งที่ชายวัยทองหลายคงยังคึกคักได้อยู่ ถ้าแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดจะยังทำให้คุณยังทำเรื่องบนเตียงได้อีกนาน // Dr.MDX
แหล่งข้อมูลอ้างอิง