มาลองสำรวจตัวเองกันดูดีกว่า..ว่าคุณมีอาการเข้าข่ายการเป็นโรคติดมือถือหรือไม่?

ในยุคที่โทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟนเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าถึงและครอบครอง ไม่ว่าใคร วัยไหน อาชีพอะไรก็ใช้กัน จนหลายคนเปรียบเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย เพราะไม่ว่าจะทำอะไรเราก็จะก้มหน้าก้มตาอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนกันแทบจะตลอดเวลา จนเป็นที่มาของ “โรคติดมือถือ” หรือ “โรคโนโมโฟเบีย” ซึ่งโรคติดมือถือหรือโรคโนโมโฟเบีย (No Mobile Phone Phobia) นั้น เป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่มีอาการหวาดกลัว วิตกกังวล ตื่นตระหนก เมื่อไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่ใกล้ๆ โทรศัพท์แบตฯ หมด หรืออยู่ในสภาพใช้การไม่ได้ จากการศึกษาพบว่าผู้ที่อยู่ในสภาวะดังกล่าวจะเกิดความเครียด หรือถึงขั้นเวียนศีรษะ คลื่นไส้ได้เลย และโรคติดมือถือ กำลังได้รับการพิจารณาบรรจุไว้ในโรคจิตเวชชนิดหนึ่งในกลุ่มวิตกกังวล ดังนั้น เราลองมาสำรวจตัวเองกันดูดีกว่าครับ… ว่าคุณมีอาการเข้าข่ายการเป็นโรคติดมือถือหรือไม่?

แล้วคุณล่ะ..เข้าข่ายเป็นโรคติดมือถือรึยัง?

  1. หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา ตื่นตระหนัก กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หงุดหงิดเป็นอย่างมาก เมื่อโทรศัพท์มือถือไม่ได้อยู่กับตัว
  2. หากคุณเป็นคนหนึ่งที่หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความ และโพสต์ต่างๆ บนโซเชียล 
  3. หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ เมื่อมีการแจ้งเตือนเข้ามาจากโทรศัพท์ จะให้ความสำคัญกับโทรศัพท์ในทันที ไม่เช่นนั้นจะไม่มีสมาธิ มีความกระวนกระวายใจ จนไม่สามารถทำภารกิจที่อยู่ตรงหน้าต่อได้
  4. หากคุณเป็นคนหนึ่งที่แม้ไม่มีเรื่องด่วนหรือไม่มีการแจ้งเตือน แต่ต้องหยิบมือถือขึ้นมาดู 
  5. หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตื่นนอนมาสิ่งแรกที่ทำคือการหยิบมือถือขึ้นมาเช็ค และก่อนนอนก็ยังคงเล่นโทรศัพท์ เล่นเกมส์
  6. หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เข้าห้องน้ำ ทานข้าว เดินกลับบ้าน ยืนรอรถ
  7. หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือเลย
  8. หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกเครียด และกังวนหากโทรศัพท์แบตฯ หมด
  9. หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ กลัวโทรศัพท์ตัวเองหาย แม้ว่าจะวางอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแล้วก็ตาม
  10. หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ เมื่อหาโทรศัพท์ไม่เจอ จะรู้สึกตื่นตระหนกตกใจมากกว่าสิ่งของอย่างอื่นหาย
  11. หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนทนาบนออนไลน์มากกว่าพูดคุยกับคนรอบข้าง

แก้ไขก่อนจะสาย หากไม่อยากเสียงาน เสียสุขภาพเพราะโรคติดมือถือ!!!

จริงๆ ก็เป็นเรื่องปฏิเสธได้ยากหากจะไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือเลยในยุคที่โทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันไม่เพียงแต่จะใช้ในการติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่โทรศัพท์มือถือยังเป็นแหล่งรวมความบันเทิง การทำธุรกรรมทางการเงิน และข้อมูลส่วนตัวต่างๆ แต่หากไม่ยับยั้งก็จะทำให้เราเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับโทรศัพท์ จนทำให้เป็นโรคติดมือถือ และโรคอื่นๆ ก็จะตามมา ก่อนสายเกินไปลองสำรวจตัวเองและเริ่มแก้ไขพฤติกรรมการใช้มือถือก่อนสายไป โดยเริ่มจากการกำหนดขอบเขตระยะเวลาในการใช้งานโทรศัพท์ เช่น ห้ามหยิบโทรศัพท์หลัง 3 ทุ่ม หรือกำหนดเป็นช่วงๆ ระหว่างวัน เช่น ก่อนเข้างานครึ่งชั่วโมง หลังทานข้าวอีกครึ่งชั่วโมง และหลังเลิกงาน เล่นก่อน 3 ทุ่ม หรือกำหนดไม่ให้ตัวเองใช้โทรศัพท์ขณะทานข้าว เข้าห้องน้ำ

นอกจากนี้ควรหากิจกรรมอื่นๆ ที่ตัวเองสนใจทำแทนการอยู่เฉยๆ เพราะบางคนให้เหตุผลว่า การใช้งานโทรศัพท์ไม่ได้ติดมือถือ แต่เบื่อๆ ว่างๆ ไม่มีอะไรทำ ทำให้ต้องหยิบมือถือออกมาเล่น จนกลายเป็นโรคติดมือถือแบบไม่รู้ตัว การหากิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น ออกไปวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน อ่านหนังสือ เป็นการทดแทนเวลาที่จะเสียไปกับโทรศัพท์แบบไร้ประโยชน์ได้ และนี่อาจเป็นที่มาของคำว่า โรคที่มาพร้อมเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น แต่ถ้ามองให้ดีปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวโทรศัพท์มือถือเลย แต่อยู่ที่พฤติกรรมผู้ใช้งานอย่างเราๆมากกว่า ที่ไม่สามารถแบ่งและจัดสรรเวลาได้ ทำให้มือถือเข้าไปอยู่ในทุกกิจกรรม และดูดกลืนความเป็นธรรมชาติ ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ความรับผิดชอบ รวมถึงก่อปัญหาด้านสุขภาพใจและกายอีกด้วย ซึ่งหากเรารู้ตัวและปรับแก้ได้ทัน เทคโนโลยีมือถือก็จะมีประโยชน์และเกิดโทษต่อผู้ใช้น้อยที่สุด โดยเฉพาะไม่ทำให้เราเป็น “โรคติดมือถือ” หรือ “โรคโนโมโฟเบีย” ได้นั่นเองครับ

 

ข้อมูลอ้างอิง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.